ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

17 สิงหาคม 2557

ธนาคารสมองคืออะไร

ธนาคารสมองคืออะไร



ธนาคารสมองเป็นศูนย์รวมผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เกษียณอายุแล้วทั้งจากภาคราชการหรือเอกชนที่เป็นผู้ทรงความรู้ ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์การทำงาน มีสุขภาพดี มีความพร้อมและสมัครใจที่จะนำปัญญา ความรู้ และประสบการณ์ มาช่วยพัฒนาประเทศโดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัว แต่มุ่งถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยธนาคารสมองจะทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาได้ทำงานสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ
แม้ในปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศดำเนินการในเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกษียณอายุได้มีโอกาสทำประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่อาจจะยังขาดการประสานความเชื่อมโยงการทำงานและเครือข่ายข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ดังนั้นธนาคารสมองจึงทำหน้าที่เป็นหน่วยทะเบียนกลาง ประสานเครือข่ายหน่วยทะเบียนต่าง ๆ ที่มีการรวบรวมรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้อยู่แล้ว โดยจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน ตลอดจนประสานเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาช่วยเชื่อมรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคต 


ที่มาของธนาคารสมอง




สืบเนื่องจากพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานในที่ประชุมมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 เนื่องในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมีประเด็นรับสั่งเกี่ยวกับเรื่องธนาคารสมอง โดยการนำผู้ที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีความรู้ความสามารถมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่งที่ให้นำผู้ที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีความรู้ความสามารถมาร่วมเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ

คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการจัดตั้งธนาคารสมอง โดยมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้ทุกกระทรวง/ทบวงสำรวจทรัพยากรบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วยการลาออกหรือเกษียณอายุ แต่ยังมีสุขภาพดี มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น การวิจัย หรือการพัฒนาประเทศ มีความพร้อมและสมัครใจเป็นวุฒิอาสาธนาคารสมอง แล้วแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทราบ และให้ สศช. มีฐานะเป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชีหรือทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ จำแนกเป็นรายสาขาให้ตรงตามความต้องการในการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาได้นำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสนอแนะมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในอันที่จะนำวุฒิอาสาเหล่านี้มาร่วมทำงานเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป



           จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องธนาคารสมองมีความสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ให้ความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโส ผู้เกษียณอายุแล้วที่มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มาแล้วมากมาย สามารถถ่ายทอดภูมิความรู้และประสบการณ์อันดีงามจากผู้อาวุโสสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุได้เป็นอย่างดี



บทบาทภารกิจของธนาคารสมอง

เพื่อเป็นการสนองพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการนำผู้ที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีความรู้ ความสามารถมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ดังนั้นธนาคารสมองจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "วุฒิอาสาธนาคารสมองเป็นคลังปัญญาของประเทศ ที่พร้อมอาสาร่วมพัฒนาสังคมและประเทศชาติในลักษณะการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ในอันที่จะสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตน แต่มุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเป็นการสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการจัดตั้งธนาคารสมอง" ดังนั้นเพื่อให้วุฒิอาสาธนาคารสมองได้นำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาอย่างกว้างขวาง และเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารสมองสามารถทำหน้าที่เป็นคลังปัญญาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารสมองจึงได้กำหนดบทบาทและภารกิจการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้สใน 4 ประการ คือ
1. การให้ความช่วยเหลือทั้งในลักษณะเชิงรับและเชิงรุก
การให้ความช่วยเหลือในลักษณะเชิงรับเป็นการให้ความช่วยเหลือตามคำขอของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่วนการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเชิงรุก เป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยการริเริ่มจากกลุ่มวุฒิอาสา ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของวุฒิอาสา หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. การนำปัญญาความรู้ของวุฒิอาสามาร่วมพัฒนาอย่างกว้างขวาง
ธนาคารสมองได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานเชิงรุก โดยการเจาะกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยตรง เพื่อกระตุ้นความสนใจให้มาใช้บริการจากธนาคารสมองมากขึ้น โดยการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ของธนาคารสมอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่
++ กลุ่มหน่วยงานในระดับพื้นที่ อันประกอบด้วยหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากธนาคารสมองมีวุฒิอาสากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและมีการสร้างเครือข่ายการทำงานของวุฒิอาสาทั่วทุกจังหวัด ดังนั้นวุฒิอาสาธนาคารสมองสามารถให้ความช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยธนาคารสมองได้จัดส่งทำเนียบวุฒิอาสาธนาคารสมอง ซึ่งแยกตามประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และตามภูมิลำเนาของวุฒิอาสาให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้ทราบถึงบริการของธนาคารสมอง
++ กลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง เนื่องจากธนาคารสมองมีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์ในงานระดับชาติมากมาย ซึ่งสามารถจะช่วยสนับสนุนภารกิจที่หลากหลายของกระทรวงและกรมต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ธนาคารสมองได้เชิญปลัดกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งปลัดกรุงเทพมหานครมาร่วมหารือ เพื่อกำหนดลักษณะงานที่แต่ละกระทรวงต้องการให้วุฒิอาสาเข้าไปให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งได้จัดทำหนังสือถึงหน่วยงาน เพื่อกระตุ้นให้มีการนำวุฒิอาสาไปสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานเป็นประจำทุกปี
++ กลุ่มงานของ สศช. ภารกิจที่สำคัญของ สศช. คือ การผลักดันให้วาระแห่งชาติ อันได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทุนทางสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ มากมาย

3. การมุ่งเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ของวุฒิอาสา
ธนาคารสมองได้ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์จัดทำโครงการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ของวุฒิอาสาธนาคารสมอง โดยจัดรายการวิทยุชื่อ "ธนาคารสมองของคนไทย" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารสมองได้รวบรวมรายการที่ออกอากาศแล้ว จำนวน 364 ตอน จัดทำเป็นหนังสือ "ธนาคารสมองของคนไทย" จำนวน 2 ชุด เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และสาธารณชนอย่างกว้างขวางต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารสมองยังได้เชิญชวนวุฒิอาสาร่วมเขียนบทความที่น่าสนใจจากความรู้และประสบการณ์ของวุฒิอาสา เพื่อนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของธนาคารสมอง


4. การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
ธนาคารสมองได้มีการจัดระดมสมองวุฒิอาสาในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ และมีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับส่วนราชการ ทั้งในระดับกระทรวง ระดับกรม และในระดับพื้นที่ ตลอดจนทำงานเชื่อมโยงกับมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ต่าง ๆ ที่ทำงานเชิงอาสาสมัคร




องค์กรและกลไกการทำงานของธนาคารสมอง

พื่อให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการธนาคารสมองบรรลุวัตถุประสงค์และ เป้าหมายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมองขึ้นในคำสั่งที่ 6/2549 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549
เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง และเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบภายในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมองชุดใหม่ขึ้นในคำสั่งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมี ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษา นายสุเมธ ตันติเวชกุล และนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นที่ปรึกษา และนายกิติศักดิ์ สินธุวนิช เป็นประธานอนุกรรมการ
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้


1) วางกรอบทิศทางนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานธนาคารสมองเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้วุฒิอาสาธนาคารสมองได้นำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ มาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินมาตรการ แผนงานเชิงรุกที่สามารถเชื่อมโยงบทบาทวุฒิอาสาธนาคารสมองมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ตลอดจนผลักดันเสริมสร้างเครือข่ายวุฒิอาสาธนาคารสมองให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ชุมชน

3) กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานธนาคารสมอง และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพงานธนาคารสมอง

4) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องที่คณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง มอบหมาย


5) รายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบเป็นระยะ

6) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย



นอกจากนี้ สศช. ได้มีการกำหนดโครงสร้างองค์กร โดยการจัดตั้ง "กลุ่มงานประสานและอำนวยการธนาคารสมอง" ซึ่งเป็นกลุ่มภารกิจเฉพาะที่รับผิดชอบงานธนาคารสมอง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

1) เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมองในการรวบรวมข้อมูลผู้ที่เกษียณอายุแล้วจากภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อมจะอาสาทำงานเพื่อประเทศโดยไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ โดยจัดทำบัญชีหรือทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิจำแนกตามประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือในสาขาพัฒนาต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งปรับปรุงทะเบียนข้อมูลวุฒิอาสาให้เป็นปัจจุบันทุก ๆ ปี
2) ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาได้ทำงานสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรหรือชุมชนต่าง ๆ
3) ศึกษา วิเคราะห์เพื่อกำหนดกลยุทธ์การทำงาน เพื่อให้วุฒิอาสาได้นำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวางและเกิดประโยชน์สูงสุด
4) เป็นตัวกลางประสานให้ฝ่ายที่ขอรับความช่วยเหลือได้พบและทำความตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำงานกับวุฒิอาสา ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
5) ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานของวุฒิอาสา เพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารสมอง
6) ประสานการจัดประชุมหารือระดมความคิดเห็นของวุฒิอาสากลุ่มต่าง ๆ
7) ประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาให้เป็นที่รุ้จักแพร่หลาย และสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้มาใช้บริการจากธนาคารสมองเพิ่มขึ้น
8) เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง



จากแนวทางการดำเนินงานของธนาคารสมองที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในระดับกระทรวง ระดับกรม และในระดับพื้นที่ ตลอดจนทำงานประสานเชื่อมโยงกับมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ต่าง ๆ ที่ทำงานเชิงอาสาสมัคร ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดกลไกการประสานงานกับธนาคารสมองดังนี้
1) ระดับกระทรวง กรม โดยแต่ละกระทรวงจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายธนาคารสมอง โดยมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงเป็นประธานและมีผู้แทนจากกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาแผนงาน/โครงการ ที่หน่วยงานในสังกัดมีความประสงค์จะให้วุฒิอาสาเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้เครือข่ายระดับกระทรวงสามารถ Online เข้ามาในระบบฐานข้อมูลของธนาคารสมองเพื่อค้นหารายชื่อวุฒิอาสาที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ โดยแต่ละกระทรวงสามารถประสานโดบตรงกับวุฒิอาสาหรือให้ธนาคารสมองเป็นผู้ประสานกับวุฒิอาสา
2) ระดับพื้นที่ เนื่องจากในขณะนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานของวุฒิอาสาในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ประกอบกับ สศช. มีสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละภูมิภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ดังนั้นเพื่อให้วุฒิอาสาสามารถนำความรู้และประสบการณ์เข้าไปช่วยสนับสนุนภารกิจที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ โดยจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และวุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมเป็นกรรมการ โดยมีสำนักงานจังหวัดและสำนักพัฒนาภาคฯ ของ สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อพิจารณาแผนงาน/โครงการทั้งในลักษณะเชิงรับและเชิงรุกที่จะนำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของวุฒิอาสามาร่วมเป็นพลังในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเครือข่ายในระดับจังหวัดสามารถเข้ามาในระบบฐานข้อมูลของธนาคารสมอง จึงสามารถค้นหารายชื่อของวุฒิอาสาและประสานงานกับวุฒิอาสาได้เช่นเดียวกับในระดับกระทรวง ทั้งนี้สำนักงานจังหวัดจะให้ความอนุเคราะห์สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของวุฒิอาสาธนาคารสมอง อาทิ สถานที่ประชุมและเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยธนาคารสมองจะร่วมสนับสนุนค่าตอบแทนใช้สอยที่จำเป็น อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจของวุฒิอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าทำงานล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นต้น




การให้บริการของธนาคารสมอง

ธนาคารสมองให้บริการอะไร
การให้บริการของธนาคารสมองเป็นลักษณะการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำทั้งทางด้านวิชาการและด้านการบริหารงาน แก่หน่วยงานผู้ขอความช่วยเหลือ โดยการจัดการสาธิต ฝึกอบรม ติดตามดูงาน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานหรือให้คำแนะนำเพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารสมองได้ให้บริการในการเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นกลาง ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลในประเด็นนโยบายต่างๆ ตลอดจนเป็นวิทยากรหรือบรรยายพิเศษ เพื่อเป็นการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์จากวุฒิอาสาสู่คนรุ่นใหม่

ธนาคารสมองให้บริการแก่ใคร
หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ตลอดจนมูลนิธิ องค์กร ชุมชนต่าง ๆ ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ สามารถขอความช่วยเหลือจากธนาคารสมองหรือวุฒิอาสาธนาคารสมอง
ธนาคารสมองให้บริการอย่างไร
+++ การให้บริการผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต (Internet)
1) เนื่องจากขณะนี้ธนาคารสมองได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลวุฒิอาสาทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยแยกตามประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ถึง 21 สาขาพัฒนา และได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางระบบเครือข่าย Internet ซึ่งฐานข้อมูลนี้ใช้ระบบการค้นหาคำสำคัญ (Keyword) ทำให้สามารถสืบหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้ตรงตามความต้องการอย่างรวดเร็ว
2) ดังนั้นหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ และภาคประชาชน ที่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือจากวุฒิอาสาธนาคารสมองเพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ จัดการสาธิต ฝึกอบรม ตลอดจนเป็นวิทยากรบรรยายเผยแพร่ความรู้ประสบการณ์แก่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถค้นหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ตามความต้องการผ่านทางระบบเครือข่าย Internet ของสศช. (www.nesdb.go.th) และสามารถประสานโดยตรงกับวุฒิอาสาหรือแจ้งธนาคารสมองเพื่อประสานกับวุฒิอาสาต่อไป

+++ การให้บริการผ่านธนาคารสมอง
1) ในกรณีที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ไม่สะดวกที่จะสืบค้นวุฒิอาสาจากฐานข้อมูลของ สศช. สามารถกรอกแบบฟอร์มขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารสมอง โดยระบุปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ตลอดจนลักษณะความช่วยเหลือที่ต้องการ ทั้งนี้อาจระบุคณสมบัติของวุฒิอาสาที่ต้องการหรือระบุชื่อวุฒิอาสาที่ต้องการและส่งแบบฟอร์มดังกล่าวมายังธนาคารสมองหรือเครือข่ายต่าง ๆ ดังนี้
ส่วนกลาง:
--- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
962 ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 หรือ ตู้ ปณ. 49 ปทฝ. หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102 วงเล็บมุมซอง "ธนาคารสมอง" หรือ โทร. 0-2282-9967, 0-2280-4085 ต่อ 2404, 2413 โทรสาร 0-2281-6127 หรือ E-mail address: brainbank@nesdb.go.th
--- คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายระดับกระทรวง
ส่วนภูมิภาค:
--- สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของ สศช, ได้แก่
- สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง
ตั้งอยู่ที่ 88/38 หมู่ 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 0-2526-7074-6 โทรสาร 0-2526-2467,0-2526-7052 E-mail address: ceso@nesdb.go.th

- สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ
ตั้งอยู่ที่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร. 0-5311-2689-92 เบอร์มหาดไทย 0-2281-1466 ต่อ 25591 โทรสาร 0-5311-2693 E-mail address: neso@nesdb.go.th
- สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งอยู่ที่ ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น ชั้น 5 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 โทร. 0-4323-5595-6, 0-4323-6784 เบอร์มหาดไทย 0-2281-1466 ต่อ 40491 โทรสาร 0-4324-9912 E-mail address: seso@nesdb.go.th
- สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้
ตั้งอยู่ที่ 170/8 ถนนกาญจนวนิช ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000 โทร. 0-7431-2702 เบอร์มหาดไทย 0-2281-1466 ต่อ 73491 โทรสาร 0-7431-1594 E-mail address: seso@nesdb.go.th
- สำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด

2. ธนาคารสมองมีขั้นตอนการพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังนี้
กรณีผู้ขอรับความช่วยเหลือระบุวุฒิอาสาที่ต้องการ
- ธนาคารสมองจะประสานงานกับวุฒิอาสาให้ทราบถึงความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือ หากวุฒิอาสาไม่ขัดข้องธนาคารสมองจะได้แจ้งผู้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อประสานโดยตรงกับวุฒิอาสา หากวุฒิอาสาไม่สะดวกที่จะรับงานดังกล่าว ธนาคารสมองจะดำเนินการคัดเลือกวุฒิอาสาท่านอื่นให้ตรงตามความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือต่อไป
กรณีผู้ขอรับความช่วยเหลือระบุประเด็นปัญหาแต่ไม่ระบุวุฒิอาสา
- ธนาคารสมองจะพิจารณาวุฒิอาสาที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับประเด็นปัญหาหรือความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นวุฒิอาสา 1 ท่านหรืออาจเป็นทีมงานวุฒิอาสาที่มีประสบการณ์หลากหลายขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของประเด็นปัญหา ทั้งนี้จะพิจารณาจากวุฒิอาสาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของผู้ขอรับความช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่มีวุฒิอาสาในพื้นที่ธนาคารสมองจะพิจารณาวุฒิอาสาที่มีภูมิลำเนาในที่อื่น
- ธนาคารสมองจะเป็นตัวกลางประสานให้ฝายที่ขอรับความช่วยเหลือมาพบปะหารือกับทีมงานวุฒิอาสาเพื่อทำความรู้จักและให้ข้อมูลรายละเอียดของประเด็นปัญหา ตลอดจนการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงก่อนกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนกรณีที่ปัญหาไม่มีความซับซ้อน ธนาคารสมองอาจเลือกวุฒิอาสาเพียงท่านเดียวเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยธนาคารสมองจะเป็นผู้ประสานงานและทาบทามวุฒิอาสาเหมือนเช่นกรณีแรก
ทั้งนี้หากไม่สามารถหาวุฒิอาสาได้ตรงตามความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ธนาคารสมองจะประสานเครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อค้นหาผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับความต้องการหรืออาจทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมเพือให้ความช่วยเหลือต่อไป







ขอบคุณที่มา   ::    http://brainbank.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=128
ติดตามเราได้ที่   ::   https://www.facebook.com/prapasara.blog







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น